
‘Carenation’ คือพวงหรีดกระดาษสีสันและหน้าตาสวยงามคล้ายคลึงพวงหรีดดอกไม้สด แต่ทำจากกระดาษรีไซเคิลและกระดาษจากป่าปลูกซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เพราะการแสดงความยินดีในวาระต่างๆ ไปจนถึงการแสดงความเคารพต่อผู้ล่วงลับในงานศพ ล้วนใช้ดอกไม้มอบให้แก่กัน ส่วนใหญ่ช่อดอกไม้และพวงหรีดเหล่านั้นมักประกอบด้วยพลาสติกและโฟม ทำให้ในเวลาไม่กี่วันเมื่อสิ้นการใช้งาน พวกมันจะกลายเป็นขยะที่ถูกนำไปเผาทิ้ง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือ Carbon Footprint ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน
Carenation พวงหรีดกระดาษที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและปันกำไรคืนสู่สังคมผ่านมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์พวงหรีดกระดาษ Carenation ขึ้น โดย บิ๊ก-ปริชญ์ รังสิมานนท์ ชายผู้อยู่ในแวดวงการทำงานเพื่อสังคมมานานนับสิบปีและ เอิร์ธ-สรณัญช์ ชูฉัตร นักออกแบบชาวไทยผู้เคยได้รับรางวัล Red Dot Design Award งานประกวดของนักออกแบบที่ใช้งานดีไซน์พัฒนาโลกให้ดีขึ้น
ความเจ๋งไม่ได้มีแค่นั้น เพราะนอกจากจะดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว Carenation ยังส่งต่อเรื่องราวดีๆ ออกไปสู่สังคมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำ
Carenation ผลิตโดยคนในชุมชน เพื่อเป็นการสร้างงานและรายได้เสริมให้กลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุ โดยออกแบบให้ง่ายต่อการประกอบและขนส่ง นอกจากนี้ รายได้ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ได้จากการขายพวงหรีดแต่ละพวง จะถูกนำไปบริจาคให้มูลนิธิและองค์กรการกุศลที่ลูกค้าเลือกได้ตามความศรัทธา
Carenation พวงหรีดกระดาษที่สร้างรายได้ให้ชุมชนและปันกำไรคืนสู่สังคมผ่านมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส
จากพวงหรีดกระดาษ 1 พวง สู่การได้รับของคนอีกหลายคนในสังคม นี่คือเรื่องราวของ Carenation และการพัฒนาสังคมให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนผ่านการแสดงความรักความอาลัย
ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของ Carenation บิ๊กและเพื่อนๆ เป็นส่วนสำคัญในการช่วยหาเงินมอบให้หลายมูลนิธิ โดยเฉพาะกลุ่มลูกเหรียง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเนื่องด้วยปัญหาความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยกำพร้าพ่อแม่จากการโจมตีที่ขยายวงกว้าง เพื่อเยียวยา มอบความอบอุ่น มอบพื้นที่พักพิง และมอบโอกาสทางการศึกษา เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนทุกรูปแบบ และสร้างพื้นที่แห่งสันติสุขให้เกิดขึ้นจริง
“ผมช่วยหาทุนให้กลุ่มลูกเหรียงมานานหกถึงเจ็ดปีแล้วครับ มีอะไรก็โทรหากันตลอด เพราะคุณชมพู่ (วรรณกนก เปาะอีแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือกลุ่มลูกเหรียง) มีเด็กในการดูแลกว่าร้อยคน ทำให้บางครั้งกลุ่มหาทุนการศึกษาหรือค่าดูแลใช้จ่ายต่างๆ ได้ไม่เพียงพอ จึงมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งผมก็จะรับหน้าที่ไปหาเงินมาให้ด้วยการออกให้เองบ้าง ไปขอเงินจากคนอื่นๆ มาบ้าง
“ซึ่งการขอเงินในลักษณะนี้ เมื่อนานวันเข้าผมก็รู้ว่ามันไม่ยั่งยืน เพราะทางกลุ่มก็ต้องใช้เงินตลอด มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงเข้ามาใหม่อยู่เรื่อยๆ ผมรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งเวลาคุณชมพู่โทรมาบอกเล่าว่า มีเด็กเข้ามาใหม่อีกแล้วนะ เพราะนั่นหมายถึงเหตุการณ์ความสูญเสียได้เกิดขึ้นอีกแล้ว และแน่นอนว่าสภาพจิตใจของเด็กๆ ที่บอบช้ำกำลังรอการช่วยเหลืออยู่”
ช่วงที่ภาคใต้ประสบเหตุสึนามิเมื่อ 15 ปีที่แล้ว บิ๊กและเพื่อนๆ รวมกลุ่มกันตั้ง Thai Charity Advisory Group เพื่อระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย จนระดมทุนได้ถึง 30 ล้านบาท
ช่วงต้นปีที่แล้วบิ๊กและเอิร์ธได้ไปงานศพของผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่ง ซึ่งในงานมีพวงหรีดดอกไม้สดจำนวนนับร้อยถูกส่งมาแสดงความเคารพและความอาลัยต่อผู้ล่วงลับ ตอนนั้นเองที่พวกเขาเกิดแนวคิดในการสร้าง Carenation ขึ้น
“พวงหรีดราคาพวงละประมาณสองพันบาท งานศพระดับผู้ใหญ่น่าจะมีไม่ต่ำกว่าสองร้อยถึงสามร้อยพวง เท่ากับเงินสี่แสนถึงหกแสนบาทเลยนะ ผมเคยทำเซอร์เวย์ที่วัดธาตุทองซึ่งมีศาลาสวดอภิธรรมสามสิบสองศาลา ไม่มีศาลาไหนที่มีพวงหรีดต่ำกว่าหนึ่งร้อยพวงเลย แม้จะเป็นความงดงามที่แสนเศร้า เพราะพวงหรีดเหล่านั้นใช้เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต แต่ก็น่าเสียดายเช่นกันที่เงินจำนวนมหาศาลเหล่านั้นจะถูกใช้ไปในเวลาไม่กี่คืน จากนั้นก็ถูกทำลายทิ้ง
“ผมนึกถึงเด็กๆ กลุ่มลูกเหรียงที่รอการช่วยเหลือเพราะขาดเงินทุน จึงเกิดแนวคิดว่าถ้าเงินที่ถูกนำไปใช้เพื่อแสดงความเคารพผู้ล่วงลับนำมาสร้างประโยชน์อีกต่อให้สังคมได้ เป็นความดีสุดท้ายที่ผู้ล่วงลับมีส่วนในการสร้างด้วยก็คงดีไม่น้อย นั่นจึงกลายเป็นแนวความคิดแรกของ Carenation ซึ่งไม่ได้ตั้งเป้าหมายเป็นกำไรทางเม็ดเงินเลย ผมแค่ต้องการช่วยเหลือสังคมอย่างยั่งยืน” บิ๊กเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น
ที่มา: The Cloud