Project Description

โครงการเพจต้องแฉ

“เป็นพื้นที่ออนไลน์ให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยกระบวนการ Crowdsourcing หรือการร่วมกันให้ข้อมูลเบาะแสการทุจริต”

 
พันธกิจ

เพจต้องแฉ (Must Share) เป็นพื้นที่ออนไลน์ให้ประชาชนร่วมแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยกระบวนการ Crowdsourcing หรือการร่วมกันให้ข้อมูลเบาะแสการทุจริต ร่วมกันค้นหาข้อเท็จจริง แบ่งปันความรู้ในการแก้ไขปัญหาผ่านแฟนเพจ เพิ่มความตระหนักในปัญหาและความสามารถในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในภาคพลเมือง รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสังคม www.facebook.com/mustshareofficial

ที่มาและความสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมาประชาชนหรือผู้ที่พบเห็นหรือประสบปัญหาจากการทุจริตคอร์รัปชันยังกลัวการให้เบาะแสเพราะมีเสี่ยงต่อความปลอดภัยในชีวิต ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสังคมไม่มีข้อมูลเพื่อที่จะใช้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การทุจริตคอร์รัปชันได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานจนฝังรากลึกลงในความคิดของคนไทย บีบให้คนไทยต้องอยู่ร่วมและยอมรับการทุจริตคอร์รัปชันอย่างไม่มีทางออก

บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริม
ธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมโดยการสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมให้สามารถร่วมกันส่งเสริมธรรมาภิบาล และต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กร ได้แก่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย กองทุนรวมคนไทยใจดี กองทุนสื่อเพื่อความยุติธรรมในสังคม สำนักข่าวอิศรา เครือข่ายชมรม STRONG สำนักงานป.ป.ช. และองค์กรภาคีอื่น ๆ ดำเนินโครงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างปลอดภัยด้วยกระบวนการ Crowdsourcing ในนาม “เพจต้องแฉ (Must share)”

เพจต้องแฉ (Must share) เป็นโครงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสงสัยเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือต่อต้านคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล เพื่อเพิ่มความตระหนักในปัญหาและความสามารถในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในภาคพลเมือง บริหารจัดการระบบรับแจ้งเบาะแสผ่าน Facebook เพจต้องแฉ และมีช่องทางการทำงานร่วมกับภาคประชาชนในรูปแบบ Line Chat Bot ชื่อว่า “ฟ้องโกงด้วยแชตบอต” (@corruptionwatch) ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับการใช้งานของประชาชนทั่วไป และบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐให้สามารถแจ้งเหตุสงสัยทุจริตคอร์รัปชันโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน โดยได้รับการสนับสนุนในการติดตาม ตรวจสอบ ประเด็นข้อสงสัยการทุจริตคอร์รัปชันจากศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center) สำนักงาน ป.ป.ช. อย่างรวดเร็ว

เพจต้องแฉ (Must share) ดำเนินการเป็นพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันต่อเนื่องยาวนานมากว่า 5 ปี ได้รับความไว้วางใจจากพลเมืองมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizen) ในการร่วมกันเป็นหูเป็นตาส่งข้อมูลเข้ามาเป็นจำนวนมาก และได้รับความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการขยายผลสู่สังคมจนเกิดการลงไปตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เช่น กรณีเสาไฟกินรี กรณีการจัดซื้อจัดจ้างในช่วงโควิด-19 ในหลายจังหวัด กรณีการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ที่มีลักษณะแพงเกินจริง สร้างไม่เสร็จ สร้างแล้วไม่ได้คุณภาพ หรือสร้างแล้วไม่เกิดการใช้งานจริง ฯลฯ เพจต้องแฉจึงมีความต้องการการสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินการโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาและพัฒนาพื้นที่การทำงานต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างภาคส่วนให้ดำเนินได้ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยได้ในที่สุด

วัตถุประสงค์โครงการ
  1. เพื่อสร้างการรับรู้: ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ เช่น การให้ข้อมูลแบ่งปันความรู้ด้านธรรมาภิบาลหรือการต่อต้านคอร์รัปชัน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Infographic บทความ รวมไปถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม: ให้ประชาชนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่อเค้าการทุจริตคอร์รัปชันด้วยกระบวนการ Crowdsourcing เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมรักษาผลประโยชน์สาธารณะ และเพิ่มความตระหนักในปัญหา และเพิ่มความสามารถในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในภาคพลเมือง รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับภาครัฐและสื่อมวลชน ด้วยการตั้งข้อสังเกตและให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นส่อทุจริตแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหา และสื่อต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็น
  3. เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง: โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบ และเครือข่ายต่าง ๆ เช่น เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน เครือข่ายชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริต และสื่อหลักหรือสื่อท้องถิ่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นปัญหาและขยายผลจนเกิดการเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างความสำเร็จของเพจต้องแฉ (Must Share) ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมให้เกิดการตระหนักรู้ มีส่วนร่วมและแก้ไขปัญหาส่อทุจริตคอร์รัปชันใกล้ตัว

  • ประเด็นโครงการเสาไฟประติมากรรมกินรี อบต.ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ เหตุสงสัยการใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า
    • เนื่องจากทีมงานได้รับแจ้งผ่านทาง inbox ของเพจต้องแฉ เรื่องเหตุสงสัยโครงการติดตั้งเสาไฟกินรี จังหวัดสมุทรปราการ ที่มีการติดตั้งเสาไฟในพื้นที่รกร้าง จากนั้นจึงได้รวบรวมข้อมูลและทำการสืบค้นเพิ่มเติมจากสำนักข่าวอิศรา และเครื่องมือ ACT Ai พบว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ อบต.ราชาเทวะ เมื่อรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยจึงจัดทำประเด็นเพื่อ Crowdsource ร่วมกับผู้ติดตามเพจ
    • หลังการเผยแพร่ประเด็นในเพจต้องแฉ เกิดปรากฏการณ์ที่สื่อหลายสำนักและประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจจนกลายเป็นประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคม นำไปสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สตง. และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการดังกล่าว และในขณะนี้กำลังอยู่ในการไตร่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช.
    • นอกจากนี้ยังมีการขยายผลเพื่อตรวจสอบโครงการลักษณะเช่นเดียวกันในพื้นทั่วประเทศ เช่น โครงการเสาไฟโซลาร์เซลล์ อบจ.อ่างทอง เสาไฟแม่ค้าพายเรือ จ.นนทบุรี เสาไฟหงส์ จ.ตรัง เป็นต้น
    • ข้อมูลเพิ่มเติม https://bit.ly/3krmcTb 
  • เหตุสงสัยโครงการจัดซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโควิด-19 อบจ.มหาสารคาม ส่อจัดซื้อราคาสูงเกินจริง
    • ประชาชนแจ้งเหตุสงสัยเรื่องการจัดซื้อน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสโควิด-19 ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคามที่ส่อราคาสูงผิดปกติ เพจต้องแฉจึงรวบรวมข้อมูลนำเสนอประเด็นลงเพจ จากนั้นได้รับเบาะแสหลักฐานเพิ่มเติมจากคนในพื้นที่จึงได้นำเสนอประเด็นต่อเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบ
    • หลังจากเผยแพร่ประเด็น ได้รับความร่วมมือจากสำนักข่าวอิศราร่วมขยายประเด็น และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. รับเรื่องไปตรวจสอบต่อ
    • จากความร่วมมือส่งผลให้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม และพวก ในคดีการจัดซื้ออุปกรณ์ ยา และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ตามโครงการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดกรณีโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อปี 2563 ในราคาสูงกว่าปกติโดยมิชอบทำให้ราชการได้รับความเสียหาย
    • ข้อมูลเพิ่มเติม https://bit.ly/3XjVfnb
  • เหตุสงสัยเจ้าหน้าที่รัฐกระทรวงวัฒนธรรมส่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้รับงานมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท
    • มีเรื่องแจ้งเข้ามาที่ไลน์ “ฟ้องโกงผ่านแชตบอต” เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของข้าราชการของกระทรวงแห่งหนึ่งอำนวยความสะดวกให้เอกชนได้รับงาน ในโครงการจ้างทำเครื่องเกียรติยศประกอบศพในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยวิธีการคัดเลือก แต่บริษัทที่ได้รับคัดเลือกเป็นบริษัทที่ไม่มีคุณสมบัติเกี่ยวข้องกับโครงการ แต่กลับได้รับคัดเลือกการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 400 กว่าล้านบาท ทางเพจต่อยอดเบาะแสด้วยการสืบค้นข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมด้วย ACT Ai และนำเสนอประเด็นผ่านเพจ
    • หลังจากเผยแพร่ประเด็น เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปประกอบในการตรวจสอบ และปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว
    • ข้อมูลเพิ่มเติม https://bit.ly/466fIz3
  • แคมเปน (Campaign) #ถนนไทยเป็นอะไรได้บ้าง
    • เนื่องจากปัญหาถนนพังเสียหาย ส่อไม่ได้มาตรฐาน เกิดขึ้นมาโดยตลอดในหลายพื้นที่ เห็นได้จากการได้รับแจ้งทางเพจต้องแฉ และตามข่าวต่าง ๆ ที่ผ่านมา จึงต้องการให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องปัญหาถนนพัง ที่อาจเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน ร่วมกันเปลี่ยนแปลง และตระหนักรู้กับปัญหาคอร์รัปชันใกล้ตัว ผ่านแคมเปน (Campaign)  #ถนนไทยเป็นอะไรได้บ้าง
    • การร่วมกิจกรรมแคมเปน (Campaign) #ถนนไทยเป็นอะไรได้บ้าง คือให้ทุกคนร่วมถ่ายภาพถนนพังที่ส่อไม่ได้มาตรฐานที่พบเห็น พร้อมแจ้งพิกัดพื้นที่หรือข้อมูลโครงการที่เกี่ยวข้อง ลงบนสื่อโซเชียลของตนเอง เช่น Facebook TikTok เป็นต้น หรือส่งข้อมูลผ่านเพจต้องแฉ เพื่อประชันกันว่าถนนไทยเป็นอะไรได้บ้าง โดยการติดแฮชแท็กของแคมเปน
    • หลังการทำกิจกรรมในแคมเปน (Campaign) #ถนนไทยเป็นอะไรได้บ้าง ทำให้เกิดการระดมข้อมูลปัญหาถนนในหลายพื้นที่ ที่ส่อไม่ได้มาตรฐานและอาจเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน นำไปสู่การร่วมเผยแพร่ประเด็นจากสื่อต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบโครงการถนนต่าง ๆ ที่มาจากการระดมข้อมูลและเผยแพร่ผ่านแคมเปน
    • ดูตัวอย่าง https://bit.ly/3rSWVWn 
  • Infographic ประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน
    • เพจต้องแฉจัดทำสรุปข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นทุจริตคอร์รัปชันในรูปแบบ Infographic ให้เข้าใจง่าย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนที่ติดตามเพจ