ประวัติพวงหรีด

เผยประวัติการวิวัฒน์ของพวงหรีด จากของนอกสู่การเป็นธรรมเนียมในสังคมไทย

“พวงหรีด” หรือ “หรีด” เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอาลัยในงานศพของไทยมาอย่างช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยจนเหมือนลูกหลานไปแล้ว แต่อันที่จริง หรีดเป็นเด็กตาน้ำข้าวตัวแทนวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายเข้ามาในสังคมไทย และสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้อย่างแนบเนียนที่สุด Carenation เลยจะขอพาทุกคนไปสำรวจประวัติพวงหรีด และการนำหรีดมาปรับใช้ในสังคมไทย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างทุกวันนี้

ต้นกำเนิดของหรีด

คำว่า “หรีด” ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า “wreath” ซึ่งหมายถึงพวงดอกไม้ที่จัดเป็นวงกลม โดยอาจมีการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยใบไม้หรือผลไม้ และสามารถนำไปใช้ได้ในหลายโอกาส ทั้งงานมงคลและอวมงคล

 พวงหรีด

พวงหรีดดอกไม้นั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ กรีก-โรมัน เริ่มแรกเป็นเพียงพวงดอกไม้ขนาดเล็กที่ใช้เป็นเครื่องสวมศีรษะ เป็นรางวัลแสดงถึงอำนาจ ชัยชนะ และแม้กระทั่งความรัก

นอกจากนี้ พวงหรีดยังมีเรื่องราวเชื่อมโยงกับเทพปกรณัมกรีก ว่าด้วยความรักที่ไม่สมหวังของเทพอะพอลโลที่มีต่อนางไม้แดฟนี ซึ่งถูกเสกให้กลายเป็นต้นไม้ อะพอลโลจึงนำใบไม้มาทำเป็นมงกุฎเพื่อระลึกถึงนาง ทำให้พวงหรีดกลายเป็นสัญลักษณ์ของอะพอลโลไปโดยปริยาย

ต่อมา พวงหรีดได้มีบทบาทในงานเฉลิมฉลองของชาวคริสต์ โดยเฉพาะในเทศกาลคริสต์มาส พวกเขาจะแขวนพวงหรีดที่ทำจากกระดาษ ริบบิ้น ลูกสน ถั่ว ใบไม้และดอกไม้ เพื่อสื่อถึงความสมบูรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าที่เป็นนิรันดร ความยั่งยืนของชีวิต และการฟื้นคืนชีวิตตามความเชื่อทางศาสนา

ในขณะเดียวกัน พวงหรีดยังถูกใช้ในงานอวมงคลของชาวตะวันตก โดยเฉพาะในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ที่มีการจัดพวงหรีดและเลือกดอกไม้อย่างพิถีพิถัน โดยเฉพาะดอกไม้สีขาวที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ของวิญญาณผู้ตาย

พวงหรีดตะวันตก

การใช้พวงหรีดในโอกาสต่าง ๆ ของทางตะวันตก

พวงหรีดไม่ได้ถูกจำกัดให้ใช้เฉพาะในงานอวมงคลสำหรับวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้ในงานมงคลอีกด้วย อาจารย์ดินาร์ บุญธรรม ได้แบ่งประเภทของหรีดตั้งแต่สมัยกรีก-โรมัน ออกเป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้

พวงหรีดประดับ, พวงหรีด, เครื่องประดับ
  • Decoration Wreath: พวงหรีดดอกไม้สำหรับประดับตกแต่งบ้านเรือน มักจะแขวนไว้ที่ประตูหรือผนังบ้าน โดยนิยมทำจากดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหรือใบสมุนไพรเพื่อกันแมลง และมักใช้ในงานเทศกาลเฉลิมฉลองต่าง ๆ
พวงหรีด
  • Wreath of History: สัญลักษณ์ที่แสดงถึงชัยชนะ มักทำจากใบไม้ เช่น ใบมะกอก หรือใบกระวาน โดยผู้ชนะจะสวมหรีดนี้บนศีรษะ
พวงหรีด, มงกุฏ, ดอกไม้
  • Crown Wreath: พวงหรีดที่สวมใส่เป็นเครื่องประดับศีรษะ หรือที่เรียกว่ามงกุฎดอกไม้
พวงหรีด, หรีด, งานศพ
  • Funereal Wreath: พวงหรีดที่ใช้เพื่อแสดงความเคารพและไว้อาลัยในพิธีศพ
สั่งพวงหรีด

การเข้ามาของพวงหรีดในประเทศไทย

การเข้ามาของพวงหรีดในประเทศไทย สันนิษฐานกันว่าอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในหลาย ๆ มิติ โดยมีนักวิชาการได้ให้ความเห็นถึงสาเหตุที่ไทยรับเอาแต่ธรรมเนียมการใช้หรีดในงานอวมงคลไว้ว่า เนื่องจากคนไทยพุทธไม่ได้มีเทศกาลเฉลิมฉลองเหมือนดังชาวคริสต์ จึงเลือกรับเอามาใช้เพียงแต่ในบริบทที่ไม่ขัดกับความเชื่อทางศาสนานั่นเอง

การที่พวงหรีดได้เข้ามามีบทบาทในพิธีศพของไทยอย่างแนบเนียนนั้น ยังอาจเป็นเพราะสิ่งนี้ได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการเคารพศพแบบดั้งเดิมของไทยด้วย กล่าวคือ แต่เดิมคนไทยใช้ดอกไม้ ธูป เทียนในการเคารพศพ แต่เมื่อหรีดเข้ามา ผู้คนก็ได้ใช้หรีดแทนการใช้ดอกไม้ ธูป เทียนไหว้ศพ เนื่องด้วยรูปแบบที่สวยงาม และนัยของความมีรสนิยม การสั่งพวงหรีดจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยม

นอกจากนี้ในงานศพของชนชั้นสูงเอง ก็ปรากฏการใช้หรีดแทนเครื่องสักการะศพ อย่างพุ่มดอกไม้ทอง พุ่มดอกไม้เงิน หรือพุ่มดอกไม้สดด้วยเช่นกัน วัฒนธรรมการใช้หรีดจึงได้เข้าแทรกซึมในพิธีศพไทยได้อย่างแนบเนียน และเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูง ก่อนจะได้รับความนิยมในหมู่สามัญชน จนมีการเปิดร้านสั่งพวงหรีดมากมายมาถึงปัจจุบัน การสั่งพวงหรีดออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางที่สะดวกและเข้าถึงง่ายมากขึ้น

พวงหรีดงานศพ

วิวัฒนาการของหรีดงานศพไทย

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ หรีดงานศพ ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในรูปแบบที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น

องค์ประกอบของหรีด

ตามธรรมเนียมตะวันตก หรีดมักจะถูกส่งไปพร้อมกับกระดาษใบเล็กหรือนามบัตร แต่ในอดีต งานศพของไทยกลับไม่ค่อยพบลักษณะดังกล่าว ยกเว้นงานศพของชนชั้นสูงที่มีบ้างประปราย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพบหรีดที่มีการคาดกระดาษมากขึ้น โดยมักจะเขียนเป็นคำอาลัยหรือชื่อของผู้ส่งหรีด แม้ไม่ทราบที่มาแน่ชัด แต่หรีดพร้อมกระดาษคาดที่เก่าที่สุดที่พบนั้นอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นหรีดพระราชทานของรัชกาลที่ 5 ในโอกาสครบรอบปีการถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ธรรมเนียมนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเสริมความสมบูรณ์ของพวงหรีด นั่นคือ ไม้รองรับหรีดหรือขาหยั่งที่ใช้ตั้งหรีดให้สวยงาม ขายอยู่ในร้านพวงหรีดทั่วไป โดยนักวิชาการสันนิษฐานว่าขาหยั่งนี้อาจมีขึ้นในสมัยที่หรีดได้รับความนิยม เพื่อจัดเรียงพวงมาลาให้เป็นระเบียบ และอาจเกิดขึ้นเพื่อยกย่องพวงมาลาพระราชทานด้วย

รูปแบบพวงหรีด

ในส่วนของรูปแบบพวงหรีดแต่เดิมนั้นร้านพวงหรีดนิยมใช้ดอกไม้แห้งและไม้ประดิษฐ์ในการตกแต่ง เนื่องจากหรีดเริ่มเป็นที่นิยมจากชนชั้นสูง และงานพระศพหรืองานพระบรมศพก็จัดเป็นเวลานาน หากใช้ดอกไม้สดก็จะทำให้เหี่ยวเฉาได้ง่าย ประกอบกับในยุคนั้นมีดอกไม้ที่ใช้ในการแต่งหรีดอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ตกแต่งไปก็ดูซ้ำ แถมราคายังค่อนข้างสูง จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก จนเสฐียรโกเศศเคยเขียนไว้เมื่อช่วงรัชกาลที่ 8 ว่าต่อไปคงจะเหลือแต่หรีดแห้งกันหมด

แต่ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมหรีดเริ่มแพร่มาถึงสามัญชน งานศพแต่ละงานก็จัดในระยะที่สั้นลง ทั้งยังเริ่มมีการปลูกและขายดอกไม้หลากหลายชนิดมากขึ้น ดอกไม้สดจึงมีราคาถูกลงและพวงหรีดราคาก็ถูกตาม เมื่อประกอบกับคุณลักษณะที่ให้ความรู้สึกสดชื่น สวยงามได้มากกว่าหรีดดอกไม้แห้ง ก็ทำให้หรีดดอกไม้สดกลายเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจนเห็นกันได้ชินตาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังมานี้เรายังพบร้านพวงหรีดที่ขายหรีดในลักษณะใหม่ ๆ ซึ่งมีความสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหรีดพัดลม หรีดผ้าห่ม หรือหรีดจากเศษวัสดุเหลือใช้ เนื่องจากสังคมเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และมองว่าหรีดดอกไม้สดไม่ได้สร้างประโยชน์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความตระหนักรู้อย่างแท้จริง

พวงหรีดสานบุญ

ราคาที่…ต้องจ่าย

แล้วพวงหรีดราคาเท่าไหร่? ราคาพวงหรีดดอกไม้สมัยก่อนที่พอจะสืบทราบ พบในโฆษณาสมัยรัชกาลที่ 6 ว่าอยู่ราว 6 – 120 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าชนิดอื่น ๆ ในใบโฆษณาหน้าเดียวกัน ส่วนในปัจจุบันพวงหรีดราคาแตกต่างกันไปตามรูปแบบ ถ้าเป็นหรีดสำเร็จรูปก็อาจจะมีราคาอยู่ในช่วงหลักร้อย แต่ถ้าพวงหรีดราคาหลักหลายพันก็มักจะเป็นหรีดพิเศษที่มีการสั่งทำโดยเฉพาะนั่นเอง ขณะที่พวงหรีดสร้างสรรค์ เช่น พวงหรีดพัดลม และพวงหรีดผ้าห่มก็มีเกณฑ์ราคาอยู่ในช่วงหลักร้อยถึงพันเช่นกัน

ทว่า… ไม่ใช่แค่ผู้สั่งซื้อเท่านั้นที่ต้องจ่าย เพราะพวงหรีดหนึ่งพวงประกอบไปด้วยวัสดุสังเคราะห์ โฟม และพลาสติกมากมายเพื่อคงความสวยของดอกไม้อยู่เสมอ แม้แต่พวงหรีดสร้างสรรค์ที่หลายคนคิดว่าจะใช้ประโยชน์ต่อได้ ก็กลายเป็นภาระของวัดในการจัดหาที่ส่งต่อ หรือสุดท้ายก็ไม่พ้นต้องนำไปทิ้ง นี่จึงกลายเป็นสิ่งที่สังคมต้องร่วมจ่าย เมื่อโลกยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในทุกมิติ

ราคาพวงหรีด

พวงหรีด สานบุญ by Carenation พวงหรีดเพื่อความยั่งยืน

อย่างไรก็ดี เมื่อทุกคนรู้ถึงปัญหาแล้ว การต่อยอดเพื่อหาทางออกที่ดีกว่าย่อมไม่ใช่เรื่องยากอะไร ดังเช่นการเกิดขึ้นของพวงหรีด สานบุญ by Carenation ที่มองเห็นหรีดเป็นมากกว่าสัญลักษณ์แสดงความอาลัย แต่ยังเป็นสื่อกลางที่ช่วยส่งต่อโอกาสดี ๆ มากมายให้กับสังคม เริ่มตั้งแต่การให้อาชีพคนในชุมชน ออกแบบพวงหรีดให้คนชราและคนว่างงานประกอบได้ง่าย การเลือกใช้กระดาษรีไซเคิลที่มาจากป่าปลูกหมุนเวียน ช่วยลดปริมาณขยะ ย่อยสลายเร็ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเป็นพันธมิตรกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อทำการบริจาคอย่างโปร่งใส ให้ทุกการสั่งซื้อกับร้านพวงหรีดแห่งนี้ได้เติมเต็มความอิ่มใจและให้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

จะเห็นได้ว่าพวงหรีดได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามความเชื่อและบริบทสังคม ซึ่งนับเป็นจุดแข็งที่ทำให้หรีดยังกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานศพชาวไทยพุทธทุกวันนี้ และเมื่อ Carenation ได้เข้ามาเพิ่มคุณค่าให้กับหรีดในมิติใหม่ดังที่กล่าวไป ก็มั่นใจได้เลยว่าวัฒนธรรมพวงหรีดจะยังคงดำเนินไปในสังคมไปอย่างแน่นอน